Comments system

[blogger][disqus][facebook]

วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ซ่อมแล้วซ่อมอีก มันจะอะไรกันนักกันหนา

   จั่วหัวเรื่องแบบนี้หลายคนคนคิดว่าหมายถึงการซ่อมอุปกรณ์ต่างๆหรือเปล่านะ ไม่ใช่นะครับ ผมหมายถึงการถ่ายซ่อมภาพมี่มันไม่ได้คุณภาพอ่ะครับ มันเป็นปัญหาสุดคลาสสิคสำหรับนักรังสีการแพทย์(หรือนักรังสีเทคนิคนั่นแหล่ะ) ผมเชื่อเหลือเกินว่าเกือบทุกคนต้องผ่านประสบการณ์ตรงนี้มาแล้วทั้งนั้น แต่ถ้าใครไม่เคยก็ขอแสดงความดีใจด้วยนะครับ
    เรื่องแบบนี้มันต้องมีสาเหตุ ซึ่งแผนกรังสีฯแทบทุกที่ในประเทศนี้ ล้วนมีแผนงานจัดการเกี่ยวกับเรื่องนี้
ก็อย่างว่าล่ะครับ ทุกอย่างล้วนมีเหตุของมัน ค้นหามันให้เจอ แล้ววิสามัญซะเลย 555 ผมหมายถึงแก้ไขที่ต้นเหตุนั่นแหล่ะครับ สาเหตุใหญ่ๆที่มักเป็นเหตุให้พวกเราต้องปวดหัวกับการ repeat film ซำ้แล้วซ้ำเล่าก็มีดังนี้
     - ความรู้ไม่ดี
     - ประสบการณ์ไม่ดี
     - อุปกรณ์ไม่ดี
     - ระบบงานไม่ดี
     - อารมณ์ไม่ดี
    เอาน่า ไม่ว่าอย่างไร เมื่อมันจำเป็นต้องซ่อมจริงๆเราก็ต้องทำล่ะครับ แต่ก่อนจะลงมือผมมีอะไรจะบอกขอรับนายท่าน

1.  อย่าเร่งร้อนเกินไป
     นักรังสีฯบางคนรีบร้อนที่จะซ่อมฟิล์มมากเกินไป จนบางทีลืมคิดให้รอบคอบถึงเหตุผลที่ฟิล์มเสีย หรือมั่นใจมากเกินไป คิดว่ายังไงรอบนี้ตูไม่มีทางพลาดหรอกเฟ้ย ผมแนะนำให้สงบอารมณ์ลงสักหน่อย ยิ่งถ้าความผิดพลาดนั้นเกิดจากเรื่องชวนให้อารมณ์เสีย เช่น ความผิดพลากจากการล้างฟิล์ม ซึ่งผมเองเจอทีไรมันจี๊ดในหัวใจทุกที ต้องรอให้อุณหภูมิทางอารมณ์ลดลงก่อนแล้วค่อยทำงานต่อ

2.  ใช้สติให้มาก
     ผมเองเคยมีประสบการณ์แย่ๆเกี่ยวกับการซ่อมฟิล์ม Chest PA ธรรมดานี่แหล่ะพี่น้อง ซัดไป 4 รูปนู่นแหน่ะ คือมันอย่างนี้ครับ รูปแรก ผู้ป่วยหายใจไม่เต็มปอด ผมเห็นฟิล์มแล้วเซ็งเป็ดเลย ว่าแล้วก็เรียกผู้ป่วยมาถ่ายซ้ำ ซักซ้อมคิวกันจนแน่ใจ ว่าแล้วก็ถ่ายด้วยความมั่นใจ(แต่ไร้สติ) ฟิล์มออกมาดำสนิท เพราะผมไม่ได้เปลี่ยน mode เป็น Chest stand เครื่องมันไม่รู้เรื่องกับเราด้วยมันเลยปล่อยรังสีออกมาซะเต็มเหนียว(ก่อนหน้านั้นถ่าย L-S spine)  เพราะว่าผมมัวพะวงกับการหายใจของผู้ป่วยจนลืมนึกถึงเรื่องอื่น ก็กลัวจะพลาดจุดเดิมแต่มันดันไปพลาดที่จุดอื่น โอ๊ยปวดหัวขอรับ ยังไงก็ต้องมีสติรู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่

3. รู้จักปรึกษาผู้อื่น
    หลายๆคนอาย หรือรู้สึกเสียหน้า ถ้าต้องปรึกษาคนอื่นในเรื่องความผิดพลาดของตัวเอง แน่นอนครับ ถ้าเจอที่ปรึกษาที่ดี คุณก็จะได้ความรู้เพิ่มเติมไปเต็มๆ แต่ที่กลัวๆกันก็คือนอกจากไม่ได้คำปรึกษาอะไรเลย ยังถูกต่อว่า ถูกนำไปนินทาลับหลังเสียอีก เอาน่า ชีวิตมันก็อย่างนี้ ยังไงก็เลือกที่ปรึกษาดีๆหน่อยก็แล้วกัน(ถ้ามีให้เลือกนะ)

4. ถ้าไม่ไหวขอให้คนอื่นทำให้ซะเลย
    อันนี้ มันต้องใช้ศิลปะในการโน้มน้าวใจพอสมควร โดยทั่วไม่ค่อยมีใครอยากซ่อม Case ที่คนอื่นทำไว้หรอกครับ แต่ถ้าคุณหมดหนทางจริงๆก็ควรขอให้คนอื่นที่มีประสบการณ์ มีความรู้ มาช่วยทำให้หน่อย แล้วคุณเองก็ควรอยู่ช่วยเหลือ คอยซักถามเพื่อที่คราวต่อไปจะได้ไม่พลาดอีก ตรงนี้สำคัญนะครับ น้องบางคนมาขอให้ผมช่วยถ่ายซ่อมให้ แต่ตัวเองไม่เข้ามาช่วยผมเลย อ้างว่ากลัวผู้ป่วยจะว่าเอา แล้วมันก็หายหัวไปไหนก็ไม่รู้ แบบนี้มันไม่ work นะครับ ไอ้ผมก็กะว่าจะอธิบายประกอบไปด้วย ก็เลยพลอยหมดอารมณ์สอนไปเลย

5. ทบทวน เพื่อนำไปแก้ไข
    หลังจากจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าได้แล้ว ทีนี้เราก็มาทบทวนว่าปัญหามันเกิดได้อย่างไร แล้วแก้ได้ยังไง เพื่อประวัติศาสตร์จะได้ไม่ซ้ำรอยอีก

    ที่บอกมาเป็นแนวทางของผมเอง คงไม่เหมือนในตำราซักเท่าไหร่ แต่คงพอเป็นแนวทางให้น้องๆได้นำไปประยุกต์ใช้กับตัวเอง ขอให้ทุกท่านโชคดีไม่มีฟิล์มเสียนะคร้าบ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น